ประวัติชาวเขา
กระเหรี่ยง
(Karen) แม้ว
(Meo)
เย้า ( Yao)
มูเซอ ( Lahu)
ลีซอ (Lisu)
อีก้อ (Akha)
ลัวะ
(Lua)
ถิ่น(H'tin)
ขมุ( Khamu)
ผีตองเหลือง(Malabari)
ปะดอง(Padaung)
ปะหล่อง(Palong)
ปะดอง
PADAUNG
ปาดอง
หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่ากะเหรี่ยงคอยาว
เป็นกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐคะยาประเทศเมียนมาร์ (พม่า)
บริเวณที่ราบสูงตอนเหนือแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกของเมียนมาร์ติดชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย
มีประชากรประมาณ 30,000 คน ปาดองเรียกตนเองว่า แลเคอ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า
The Long - neck, Giraffe- necked wemen
หรือ The Giraffe women ในปี
ค.ศ.1922 Marshall
ได้จัดแบ่งกลุ่มกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาร์ออกเป็น 3 กลุ่ม
และได้จัดปาดองไว้ในกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงบเว
ประมาณปี พ.ศ. 2528
2529 บริษัทนำเที่ยวได้ติดต่อกับชาวกะเหรี่ยงในเขตเมียนมาร์ชื่อ ตูยีมู
เพื่อนำปาดองเข้ามาอยู่ในเขตชายแดนไทยที่บ้านน้ำเพียงดิน
เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นการดึงดูนักท่องเที่ยวอีกวิธีหนึ่ง
โดยปาดองได้รับเงินค่าตอบแทนสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวและสมทบทุนซื้ออาวุธไว้รบกับทหารเมียนมาร์
ปัจจุบันปาดองส่วนหนึ่งได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านในสอยเขตอำเภอเมือง
จังหวัดแม่ฮ่องสอนห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 30 กม.
เพราะบ้านน้ำเพียงดินการคมนาคมไม่สะดวกต้องเดนทางด้วยเรือใช้เวลาประมาณ 2
ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ 300 บาท นอกจากนั้นยังถูกทหารเมียนมาร์รบกวน
บริษัทนำเที่ยวเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านในสอย
หมู่บ้านนี้มีประชากร 145 คน 32 หลังคาเรือน เป็นชาวไทยใหญ่
ส่วนบ้านปาดอง มีประมาณ 17 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 70-80 คน
อยู่เลยจากหมู่บ้านไทยใหญ่ไปประมาณ 3 กม.
ชาวปาดองถือว่าเป็นผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว
และขณะนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว
หญิงปาดองที่ถูกบันทึกภาพเผยแพร่ทั่วไปจะได้แก่ มานั่ง มะซอ โมเลาะ
โมเปาะ และมะไป่
นอกจากปาดองที่บ้านในสอยแล้ว
ก็ยังมีปาดองอีกหมู่บ้านหนึ่ง คือ บ้านห้วยเสือเฒ่า
อยู่ติดกับหมู่บ้านกะเหรี่ยง ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนประมาณ 10 กม.
รถยนต์เข้าถึงหมู่บ้านได้
แต่ในฤดูฝนเดินทางลำบากเพราะต้องข้ามลำห้วยหลายแห่ง
ปางดองบ้านห้วยเสือเฒ่ามี 19
หลังคาเรือน ประชากร 80 คน
มีหญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใส่ห่วงคอทองเหลืองทั้งหมด 31 คน
หมู่บ้านดังกล่าวนี้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
มีนักธุรกิจนำพวกปาดองมาปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่แบบดั้งเดิมของเขา
ไม่ได้ทำมาหากินด้วยอาชีพการเกษตร
เขาไม่สามารถบุกเบิกหักล้างถางป่าสำหรับการเพาะปลูกได้เพราะอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ปาดองหมู่บ้านนี้จึงมีรายได้หลักจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม
นักธุรกิจผู้ชักจูงให้พวกเขามาอยู่นั้น
ได้จ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพให้ครอบครัวละ 1,500 บาท/เดือน
และยังมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยให้อีกด้วย
นอกจากนี้ก็ซื้อข้าวให้กินทุกหลังคาเรือน
ปาดองสามารถขายสินค้าของที่ระลึกรับของแจกและเงินค่าถ่ายรูปจากนักท่องเที่ยว
จึงสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ
นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้าไปเยี่ยมชมในหมู่บ้านปางดองแห่งนี้จะต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการและเจ้าของกิจการ
ซึ่งอยู่ประจำในหมู่บ้าน คนละ 200 บาท เดือนหนึ่ง ๆ
เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมประมาณ 1,000 คน
ลักษณะการแต่งกาย
ชายเผ่าปาดอง แต่งกายเหมือนเผ่าอื่น ๆ คือ นุ่งกางเกงขาก๊วยแบบจีน
เสื้อตัวสั้นศรีษะโพกผ้า ถ้าไปงานก็สวมกำไลข้อเท้าที่ทำจากลูกปัดสีขาว
น่องตอนบนจะใส่กำไลไม้ไผ่หรือหวาย
หญิงปาดองมีเอกลักษณ์การแต่งกายที่เด่นแตกต่างจากหญิงชาวเขาเผ่าอื่น ๆ
จนกลายเป็นชื่อเรียกเผ่าพันธุ์
ตามลักษณะลำคอที่ยาวเนื่องจากรอบคอสวมใส่ห่วงทองเหลืองซ้อนกันหลายห่วง
ตั้งแต่ไหปลาร้าจรดคาง จนทำให้ลำคอยาวผิดปกติ
และทรงผมด้านหน้าจะไว้หน้าม้า ด้านหลังจะมัดเป็นมวยแล้วใช้ผ้าสีเขียว
สีชมพูคาดทับทิ้งชายห้อยระบ่า แขนจะใส่กำไลที่ทำจากอลูมีเนียมข้างละ 3-5
วง และที่ขาบริเวณใต้หัวเข่าจะสวมห่วงทองเหลืองไว้อีกข้างละประมาณ 10-15
วง รองด้วยผ้าสีชมพูและจากน่องลงมาถึงข้อเท้าจะพันด้วยผ้าสีน้ำเงิน
เสื้อที่สวมใส่เป็นสีขาวคอวีทรงกระสอบ ตัวยาวถึงสะโพกล่าง
ผ้าถุงสีกรมท่าสั้นแค่หัวเข่า มีลวดลายเป็นเส้นสีชมพูรอบชายผ้าถุงที่แคบ
และนุ่งพับทบกันด้านหน้า ประเทศเมียนมาร์มีชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์
เครื่องแต่งกายของหญิงจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ
ในการบอกความแตกต่างระหว่างเผ่าและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์
ซึ่งเป็นข้อห้ามของแต่ละเผ่า
บางเผ่ามีประเพณีให้หญิงสักตามตัวมากจนไม่เป็นที่สนใจของเพศตรงข้ามต่างเผ่า
ตำนานการใส่ห่วงทองเหลืองที่คอของหญิงปาดอง
มียายปรัมปรา กล่าวถึงการใส่ห่วงคอทองเหลืองของปาดองหลายเรื่อง เช่น
มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าในอดีตกาล ภูติผีและวิญญาณไม่พอใจพวกปาดองจึงส่งเสือมากัดกินโดยเฉพาะผู้หญิง
บรรพบุรุษปาดองเกรงว่าถ้าผู้หญิง่ตายหมดเผ่าพันธุ์ตนจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้
จึงให้ผู้หญิงใส่ปลอกคอทองเหลืองเพื่อป้องกันไม่ให้เสือกัดคอระหว่างเดินทางและอีกตำนานหนึ่งเล่าว่าพวกปาดองมีแม่เป็นมังกรและหงส์จึงต้องใส่ห่วงคอเพื่อทำให้คอยาวระหงส่ายไปมา
สง่างามเหมือนคอหงษ์และมังกร
นอกจากนั้นยังมีเหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่าในอดีตปาดองหรือแลเคอเป็นนักรบผู้กล้าหาญมีความกตัญญูรักษาสัจจะวาจาเท่าชีวิต
และเคยมีอำนาจเหนือเมียนมาร์ได้ปกครองประเทศเมียนมาร์มาก่อน แต่ถูกเมียนมาร์รวมกำลังกับชนเผ่าบังการี
ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของบังคลาเทศ
ทำสงครามขับไล่ปาดองจนต้องอพยพหลบหนีเพราะพ่ายแพ้ต่อการรบ
และได้นำราชธิดาผู้นำเผ่า ซึ่งอายุได้เพียง 9 ปี
หลบหนีมาด้วยและราชธิดาได้นำต้นไม้ที่แลเคอเชื่อว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์
เรียกว่า ต้นปาดองมีสีเหลืองอร่ามเหมือนทอง
เมื่อมาถึงชัยภูมิที่เหมาะสมและพ้นอันตรายจากการติดตามของข้าศึกแล้วจึงหยุดไพร่พล
ราชธิดาก็เอาต้นปาดองนั้นพันคอไว้และประกาศว่าจะเอาต้นปาดองออกจากคอเมื่อแลเคอกลับไปมีอำนาจปกครองเมียนมาร์
นับแต่นั้นมาพวกแลเคอผู้รักษาวาจาสัตย์ก็จะนำเด็กผู้หญิงที่มีอายุ 9
ขวบมาพันคอด้วยห่วงทองเหลืองที่มีความหนาประมาณ ½
เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. โดยมีหมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ทำพิธี
โดยท่องมนต์และกลอนเตือนใจให้สำนึกว่าต้องพยายามกู้ชาติชิงแผ่นดินคืน
การใส่ปลอกคอทองเหลืองนั้นเริ่มเมื่อ
เด็กหญิงปาดองอายุได้ 5-9 ปี
หมอผีประจำหมู่บ้านจะทำพิธีเสี่ยงทายกระดูกไก่เพื่อหากฤกษ์
แต่เดิมมาจะใส่เฉพาะเด็กหญิงที่เกิดวันพุธตรงกับวันเพ็ญเท่านั้นและต้องเป็นเลือดปาดองแท้
ๆ จะเป็นลูกผสมต่างเผ่าพันธุ์ไม่ได้
การปฏิเสธใส่ห่วงคอจะถูกสังคมรังเกียจทำให้หญิงปาดอง่ต้องอับอาย
บางรายถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านทำให้เกิดความว้าเหว่
กลัดกลุ้มจนล้มป่วยและในที่สุดก็ตายหรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย
ปัจจุบันหญิงปาดองที่ใส่ห่วงคอทองเหลืองไม่จำเป็นต้องเลือกเฉพาะที่เกิดวันเพ็ญ
ที่ตรงกับวันพุธแล้วต่างหันมานิยมใส่กันหมด
โดยใช้ทองเหลืองที่นำมาจากเมืองเบงลองประเทศเมียนมาร์
น้ำหนักเมื่อแรกใส่ประมาณ 2.5 กิโลกรัม
นำทองเหลืองมาดัดเป็นเส้นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1/3 นิ้ว ไส้ตัน
ก่อนใส่ต้องอังไฟให้อ่อน แล้วนำมาขดรอบคอเป็นวง ๆ เหมือนลวดสปริง ประมาณ
9 วง ผู้ใส่ห่วงจะต้องมีความชำนาญและมีฝีมือ มิฉะนั้นห่วงจะไม่สวย
และผู้ถูกใส่ห่วงจะเจ็บคอ ปกติทั่วไปหญิงปาดองจะมีห่วงคอ 2 ชุด
ชุดแรกใส่เป็นฐานบนไหล่มี 5 วง ต่อจากนั้นขึ้นไปบนคอจะมีอีกประมาณ 20 วง
ห่วง 2 ชุดนี้ แยกออกจากกันแต่มีโลหะยึดไว้ด้านหลังคอ
และวงบนสุดจะมีหมอนใบเล็ก ๆ ใส่ค้ำคางไว้กันการเสียดสี
การเพิ่มจำนวนห่วงที่คอ จะเปลี่ยนขนาดทุก 4 ปี
ในชีวิตของหญิงปาดองจะเปลี่ยนทั้งหมด 9 ครั้ง
ครั้งสุดท้ายที่เปลี่ยนขนาดหญิงปาดองจะมีอายุประมาณ 45 ปี
จำนวนห่วงมากที่สุด 32 ห่วง น้ำหนักประมาณ 13 15
กิโลกรัม ความยาวสูงสุดประมาณ 35 ซม.
จำนวนห่วงที่นับได้จากคอหญิงปาดองที่บ้านในสอย ประมาณ 22 ห่วง ลำคอยาว 9
นิ้ว น้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 6,000 บาท
หญิงปาดองจะใส่ห่วงนี้จนกว่าจะตาย
การถอดห่วงคอของหญิงปาดองนอกจากเพื่อเปลี่ยนขนาดแล้ว ยังถอดในโอกาสอื่น ๆ
เช่น
เมื่อต้องท้องเตรียมจะคลอดลูกเมื่อคลอดลูกเสร็จแล้วก็จะใส่ห่วงคอตามเดิม
ส่วนการถอดห่วงคอที่เป็นการลงโทษนั้นกระทำเมื่อมีการทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว
จะถูกถอดคอออกทำให้คอที่ยาวโงนเงนไปมาไม่สามารถรับน้ำหนักได้คอจะพับหายใจขัด
เกิดความอายและป่วยตายในที่สุด
มีผู้สันนิษฐานว่าถ้าพิจารณาทางสรีระวิทยาการใส่ห่วงนานเป็นปี ๆ
กล้ามเนื้อที่คออาจตีบหรือตาย
แต่ผู้ที่ถอดห่วงออกจะไม่เป็นอันตรายเพราะร่างกายได้พัฒนาสร้างกล้ามเนื้อใหม่ที่แข็งแรงกว่าขึ้นมา
ถ้าถอดห่วงแล้วสวมที่พยุงคอไว้ระยะหนึ่งจนกว่ากล้ามเนื้อใหม่จะพัฒนาขึ้นมาคอก็จะมีขนาดเท่าคนปกติ
นายแพทย์เกซิเซียน
ได้ถ่ายเอกซเรย์หญิงปาดองที่โรงพยาบาลย่างกุ้งพบว่าคอไม่ได้ยืดยาว
แต่เป็นช่วงหน้าอกที่ถูกผลักดันลงมาให้ทรุดลงเมื่อเพิ่มขนาดห่วงกระดูกไหปลาร้ารวมทั้งซี่โครงก็จะทรุดตัวลงทำให้ดูคอยาว
เพราะน้ำหนักจะกดทัพกระดูกซี่โครงซี่ที่ 1 และ 2
และกระดูกไหปลาร้าโค้งงอลง
ปัจจุบันหญิงปาดองที่ถือศาสนาคริสต์จะไม่ใส่ห่วงที่คอทำให้คล่องตัวต่อการทำมาหากินในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ศาสนาและความเชื่อ
ปาดองที่นับถือพุทธจะควบคู่ไปกับการเชื่อเรื่องผีและสิ่งที่เหนือธรรมชาติทั้งปวง
พวกเขาถือว่าหากทำให้ผีไม่พอใจจะทำให้เกิดภัยอันตรายมาสู่คนในบ้านเรือนและชุมชน
ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งศาลที่บ้าน ที่ทุ่งนา ริมลำห้วย ในป่า
เมื่อจะประกอบพิธีกรรมจะต้องมีการเสี่ยงทายด้วยกระดูกไก่ เพื่อหากฤษ์
เช่น การปลูกบ้าน ถางไร่ หว่านเมล็ดพันธุ์ การเก็บเกี่ยว การล่าสัตว์
ถ้ามีการเจ็บป่วยเชื่อว่าผีและวิญญาณมาเอาขวัญผู้ป่วยไป ต้องให้หมอผี
เป็นผู้ติดต่อสอบถามว่าต้องการให้เซ่นด้วยอะไร เช่น หมู ไก่ ข้าว
สุรา
บางครั้งถ้ามีโรคระบาดป่วยกันเกือบทั้งหมู่บ้านพวกเขาต้องจัดพิธีกรรมบวงสรวงผีและวิญญาณเพื่อชำระล้างหมู่บ้าน
สำหรับปาดองที่อาศัยในรัฐคะยา ประเทศเมียนมาร์มานั้น
ส่วนมากจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ซึ่งมีคณะผู้สอนศาสนาเข้าไปเผยแพร่มานานแล้ว
*******************************
กระเหรี่ยง
(Karen) แม้ว
(Meo)
เย้า ( Yao)
มูเซอ
( Lahu)
ลีซอ (Lisu)
อีก้อ (Akha)
ลัวะ
(Lua)
ถิ่น(H'tin)
ขมุ( Khamu)
ผีตองเหลือง(Malabari)
ปะดอง(Padaung)
ปะหล่อง(Palong)